ไส้เลื่อนขาหนีบ

คำนำ 

ไส้เลื่อนขาหนีบ คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนผ่านจุดที่อ่อนแอของผนังหน้าท้องตรงบริเวณขาหนีบ ทำให้เห็นเป็นก้อนโป่งบริเวณขาหนีบ หรือลงมาในถุงอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะโตขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากมีช่องผนังหน้าท้องที่เป็นทางผ่านท่อน้ำเชื้ออสุจิและหลอดเลือด ทำให้เป็นจุดอ่อนแอ

ผู้ป่วยมักสังเกตได้ว่าก้อนที่ยื่นโป่งออกมาจะออกมามาก ขณะผู้ป่วยยืนหรือเดิน และยุบหายไปเวลานอน ในรายที่เป็นมากเป็นนาน ไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่จะไม่ยุบลงง่ายๆ เวลานอน มักต้องใช้มือดันให้เข้าไป หรือบางคนอาจดันไม่เข้าอีกเลย

ไส้เลื่อนขาหนีบเกิดได้อย่างไร? 

สาเหตุอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ตามการเกิดไส้เลื่อน พวกแรก เป็นไส้เลื่อนขาหนีบตั้งแต่เกิด ซึ่งเกิดจากการเจริญของเนื้อเยื่อที่ไม่ปกติ จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ ส่วนพวกหลังซึ่งพบได้บ่อยกว่าจะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ซึ่งมีปัจจัยชักนำได้แก่การเพิ่มความดันในช่องท้อง จากการเบ่ง, การไอ จามบ่อยๆ, การออกแรงยกของหนักร่วมไปกับการมีผนังช่องท้องอ่อนแอลง เช่น ในผู้สูงอายุ

การดูแลผู้ป่วยจึงต้องสนใจสาเหตุด้วยไม่ใช่มุ่งรักษาแต่ไส้เลื่อนอย่างเดียว การไอเรื้อรังอาจมาจาก ภาวะการสูบบุหรี่จัด, ถุงลมโป่งพอง, หลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือแม้กระทั่งวัณโรคและมะเร็งปอด การเบ่งกล้ามเนื้อหน้าท้องอาจพบได้ในคนไข้ท้องผูก มีต่อมลูกหมากโต มะเร็งลำไส้ใหญ่การวินิจฉัยภาวะเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยได้ผลสมบูรณ์จากการรักษา และลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ
อาการและภาวะแทรกซ้อน 

โดยมากผู้ป่วยจะมีอาการจุก ตึง หน่วงถ่วงเวลายืนหรือเดิน แล้วมีไส้เลื่อนยื่นโป่งออกมา เมื่อมีขนาดใหญ่ก็จะรำคาญ เดินไม่ถนัด ผู้ป่วยอาจมีไส้เลื่อนติดค้างได้แก่ การที่อวัยวะที่เลื่อนเข้ามาในถุงไส้เลื่อนถูกรัดติด และดันกลับเข้าท้องไม่ได้ เสี่ยงต่อการขาดเลือดไปเลี้ยง เน่าตาย เป็นเรื่องใหญ่โต มีการกระจายของเชื้อโรคเข้ากระแสเลือด เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ลำไส้เน่าต้องตัดทิ้ง บางรายไส้ที่ลงไปติดค้างยังไม่เน่า แต่พับงอถูกรัดจนกิ่ว เกิดภาวะลำไส้อุดตัน ท้องอืดมาก ไม่ถ่ายไม่ผายลม ปวดท้อง อาเจียนเป็นสีอุจจาระได้ ต้องทำการรักษาฉุกเฉินเช่นกัน
ต้องรักษาหรือไม่เพราะอะไร? 

เมื่อทราบภาวะแทรกซ้อนก็บอกได้ไม่ยากว่าต้องรักษา และควรจะต้องรักษาก่อนจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เพราะจะทำได้ง่ายกว่า ได้ผลดีและมีอันตรายน้อยกว่าขณะที่มีอาการเฉียบพลันเป็นอันมาก
ต้องรักษาเร่งด่วนแค่ไหน? 

ปกติหากไม่ใช่ภาวะไส้เลื่อนติดค้างหรืออุดตัน เน่าตาย การผ่าตัดไส้เลื่อนจะทำในเวลาที่เหมาะสม เมื่อวินิจฉัยได้ ผู้ป่วยเตรียมตัวพร้อมก็ควรกำหนดวันได้เลย แม้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่การทิ้งไว้นานก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งทำนายได้ยากว่าจะเป็นเมื่อใด

ไม่อยากผ่าตัด

การรักษาหลักที่สำคัญคือการผ่าตัด ร่วมไปกับการรักษาโรคที่เป็นปัจจัยชักนำ วิธีการรักษาวิธีอื่นที่หลีกเลี่ยงการผ่าตัด เช่น การใส่กางเกงในรัดคับๆ supporter มักไม่ได้ผล แต่อาจอนุโลมใช้ประคับประคองในบางแบบของไส้เลื่อนขาหนีบที่เป็นในผู้ป่วยสูงอายุ และมีอัตราเสี่ยงระหว่างการผ่าตัดสูง
การผ่าตัดแบบมาตรฐาน 

การผ่าตัดแบบมาตรฐานมีหลักการที่จะเข้าไปผูกตัดถุงไส้เลื่อนที่ยื่นออกมา จากนั้นก็ทำการเย็บซ่อมผนังหน้าท้องส่วนที่อ่อนแอให้แข็งแรงขึ้น เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ การเย็บซ่อมอาจใช้การเย็บดึงเนื้อเยื่อข้างเคียงเข้าหากัน ซึ่งวิธีนี้ทำได้ง่าย แต่เนื้อเยื่อที่ถูกเย็บเข้ามาหากันจะตึงมาก ผู้ป่วยมักมีความเจ็บปวดหลังผ่าตัด กลับไปทำงาน เดินตัวตรงตามปกติได้ช้า และเนื้อเยื่อที่ถูกเย็บอาจตึงมากและฉีกออกจากกัน ผนังหน้าท้องกลับมาอ่อนแอเหมือนเดิม แนวโน้มในปัจจุบันนิยมการเย็บซ่อมโดยไม่เกิดแรงตึงมากกว่า ซึ่งอาจใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ หรือการเย็บถักด้วยไหมเย็บ หลังผ่าตัดผู้ป่วยมักมีความเจ็บปวดน้อยกว่า กลับไปทำงาน เดินได้ตามปกติได้เร็ว วิธีหลังนี้มีข้อเสียตรงที่มีการใส่วัสดุแปลกปลอมเข้าในร่างกาย จึงมักต้องให้ยาปฏิชีวนะกันการติดเชื้อ และมีค่าใช้จ่ายเรื่องวัสดุสังเคราะห์หากเลือกใช้ แผลผ่าตัดเป็นแผลแนวขาหนีบยาวประมาณ 4-5 cm.
การผ่าตัดแบบใช้กล้องส่อง 

เป็นการผ่าตัดเพื่อทำการซ่อมผนังหน้าท้องด้วยกล้องส่อง โดยมากจะใช้แผลขนาดเล็ก 3 แผล โดยแผลที่สะดือที่จะใส่กล้องยาว 1 cm. และแผลที่ใส่เครื่องมือยาว 0.5 cm. จากนั้นก็ทำการเลาะด้านหลังของผนังช่องท้อง ซึ่งจะมองเห็นรูไส้เลื่อนจากทางด้านหลังได้อย่างชัดเจน แล้วใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ปูคลุมกล้ามเนื้อ ตรึงด้วยหมุดเย็บ 3-4 ตัว เป็นอันเสร็จ วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง และศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ ต้องใช้วัสดุสังเคราะห์และยังต้องรอดูผลชัดเจนในระยะยาว จึงมักยังทำได้ไม่แพร่หลาย และเลือกใช้ในรายที่เป็นทั้งสองข้าง หรือในรายที่เป็นซ้ำหลังการทำผ่าตัดแบบมาตรฐาน ปัจจุบัน เริ่มมีการทำในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนข้างเดียว ที่ไม่เคยผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยต้องการการรักษาวิธีนี้

พักฟื้นหลังผ่าตัด 

ผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดแบบใช้กล้องส่องหรือผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยไร้ความตึง จะใช้เวลาพักฟื้นสั้น โดยมากมักอยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน จากนั้นก็กลับบ้านไปทำงานได้ ผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดแบบมาตรฐานและใช้วิธีที่เย็บเนื้อเยื่อเข้าหากันจะอยู่โรงพยาบาลนานกว่าเล็กน้อย และมักจะกลับไปพักที่บ้านอีก 5-7 วันก่อนจะกลับไปทำงานได้
ทั้งสองวิธี แพทย์มักแนะนำให้งดการยกของหนัก ออกกำลังกายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 อาทิตย์
ต้องไม่ลืมที่จะรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นปัจจัยชักนำด้วย

ภาวะแทรกซ้อน 

พบได้บ้าง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น การมีลิ่มเลือดบริเวณใต้แผลผ่าตัดซึ่งเกิดจากเลือดออกจากหลอดเลือดเล็ก ๆ ขณะทำการเลาะเนื้อเยื่อ, การติดเชื้อของแผลผ่าตัด, การบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ท่อนำน้ำเชื้ออสุจิ, เส้นประสาทขนาดเล็กที่มารับความรู้สึกจากผิวหนัง ซึ่งทำให้มีการเจ็บแปลบหรือชา เป็นต้น
ผ่าแล้วเป็นอีก

หลังการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนขาหนีบ ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกทั้งข้างเดิม และเป็นใหม่อีกข้างหนึ่ง สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นซ้ำในข้างเดิมมีหลายอย่างได้แก่ การผ่าตัดที่ทำได้ไม่ถูกต้องตามเทคนิค, การรักษาไม่ได้ครอบคลุมการรักษา ปัจจัยชักนำหรือกำจัดปัจจัยชักนำไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยไม่หยุดสูบบุหรี่ ท้องผูกต้องเบ่งเป็นประจำ ไม่ได้ทำการรักษาต่อมลูกหมากโต เป็นต้น นอกจากนี้เนื้อเยื่อที่ไม่แข็งแรงของผู้ป่วยก็เป็นปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ
โดยมากหากการผ่าตัดครั้งแรกเป็นแบบมาตรฐาน การผ่าตัดแก้ไขโดยใช้การผ่าตัดส่องกล้องก็จะมีข้อได้เปรียบ เพราะการผ่าตัดครั้งแรกที่เราะเข้าทางด้านหน้าจะทำให้มีเนื้อเยื่อพังผืดจำนวนมาก ตัดเราะซ้ำลำบาก การส่องกล้องเข้าจากด้านในผนังช่องท้อง จะไม่มีพังผืดมาบดบังทำให้ทำผ่าตัดแก้ไขได้แม่นยำ และต้องไม่ลืมรักษาปัจจัยชักนำด้วย จึงจะป้องกันการเป็นซ้ำอีกได้ดีที่สุด